Sverdlov, Yakov Mikhaylovich (1885-1919)

นายยาคอฟ มีไฮโลวิช สเวียร์ดลอฟ (พ.ศ. ๒๔๒๘-๒๔๖๒)

ยาคอฟ มีไฮโลวิช สเวียร์ดลอฟ เป็นประธานคณะกรรมการบริหารกลางรัสเซียทั้งมวลแห่งโซเวียต (Chairman of the All-Russian Central Executive Committee of Soviets-VTsIK) และสหายสนิทคนหนึ่ง


ของวลาดีมีร์ เลนิน (Vladimir Lenin)* ผู้นำพรรคบอลเชวิค (Bolsheviks)* เขาร่วมกับเลออน ตรอตสกี (Leon Trotsky)* วางแผนและเตรียมการให้พรรคบอลเชวิคก่อการปฏิวัติเพื่อยึดอำนาจจากรัฐบาลเฉพาะกาลของอะเล็กซานเดอร์ เคเรนสกี (Alexander Kerensky)* จนนำไปสู่การปฏิวัติเดือนตุลาคม (October Revolution)* ค.ศ. ๑๙๑๗ ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๑๘-๑๙๑๙ สเวียร์ดลอฟมีบทบาทสำคัญในการปฏิรูปโครงสร้างและระบบการบริหารของพรรคบอลเชวิคให้เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพมากขึ้นรวมทั้งการวางกรอบการดำเนินงานให้องค์การพรรคท้องถิ่นอยู่ใต้การควบคุมขององค์การพรรคส่วนกลาง เขายังสนับสนุนเลนินให้เจรจากับประเทศสัมพันธมิตรเพื่อสันติภาพและถอนตัวออกจากสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* ตลอดจนให้ยุบสภาร่างรัฐธรรมนูญ

 สเวียร์ดลอฟเกิดในครอบครัวนักธุรกิจชาวยิวเมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน ค.ศ. ๑๘๘๕ ที่เมืองนิจนีนอฟโกรอด (Nizhny Novgorod) บิดาเป็นช่างทำแม่พิมพ์และมีโรงพิมพ์เล็ก ๆ ของตนเอง มารดาเป็นแม่บ้านและชอบหาความรู้จากข่าวสารบ้านเมืองและหนังสือต่าง ๆ เธอจึงอบรมลูก ๆ ให้มีนิสัยรักการอ่านและชอบหนังสือ สเวียร์ดลอฟเป็นบุตรคนที่ ๓ ในบรรดาพี่น้องชายหญิง ๗ คนเขารักและเทิดทูนชีโนวี เพชคอฟ (Zinovy Peshkov) พี่ชายคนโต ซึ่งในเวลาต่อมามักซิม กอร์กี (Maxim Gorky)* นักเขียนเรืองนามชาวรัสเซียได้รับไปอุปการะเป็นบุตรบุญธรรมและได้เข้าเป็นสมาชิกพรรคบอลเชวิค สเวียร์ดลอฟจึงได้อิทธิพลทางความคิดทางการเมืองจากพี่ชายและทำให้เขาสนใจขบวนการปฏิวัติ

 ในวัยเยาว์ สเวียร์ดลอฟเป็นเด็กซน ฉลาดเฉลียวอยากรู้อยากเห็นทั้งชอบซักถามเรื่องต่าง ๆ จนผู้ใหญ่เบื่อที่จะคอยตอบคำถาม เขาจบการศึกษาระดับต้นที่โรงเรียนในท้องถิ่นใกล้บ้านและใน ค.ศ. ๑๘๙๖ ก็เข้าศึกษาต่อระดับปลายที่โรงเรียนนิจนีนอฟโกรอดที่มีชื่อเสียงของเมือง ในช่วงศึกษาต่อระดับปลาย ครอบครัวประสบปัญหาขาดทุนด้านธุรกิจทำให้เขาต้องหางานทำเพื่อส่งเสียตนเอง เขาเริ่มขาดเรียนและผลการเรียนก็ตกตํ่าลง ใน ค.ศ. ๑๙๐๐ สเวียร์ดลอฟตัดสินใจเลิกเรียน เขาจึงได้รับเพียงอนุปริญญาที่ระบุว่าเรียนไม่ครบเต็มเวลา ๕ ปีตามหลักสูตร อย่างไรก็ตาม ความใฝ่รู้และนิสัยรักการอ่านทำให้เขาขวนขวายเรียนรู้ด้วยตนเองและหาอ่านหนังสือต่าง ๆ จากห้องสมุดรวมทั้งหนังสือแนวความคิดสังคมนิยม เขาเริ่มต่อต้านสังคมที่ดำรงอยู่และเข้าร่วมกลุ่มเคลื่อนไหวใต้ดิน ต่อมา สเวียร์ดลอฟได้งานเป็นลูกมือเภสัชกรที่ร้านขายยาเมืองคานาวิน (Kanavin) ซึ่งลูกค้ามักเป็นกรรมกรจากโรงเลื่อยที่ตั้งไม่ห่างจากตัวเมืองมากนัก เขาจึงมีโอกาสคุ้นเคยกับพวกกรรมกรเป็นครั้งแรกและเริ่มเคลื่อนไหวปลุกระดมความคิดกรรมกรด้วยการจัดตั้งกลุ่มศึกษาแนวความคิดสังคมนิยม ในต้น ค.ศ. ๑๙๐๒ สเวียร์ดลอฟในวัย ๑๗ ปีก็ผ่านการตรวจสอบทั้งด้านคุณสมบัติและการปฏิบัติงานจากองค์การพรรค และได้เข้าเป็นสมาชิกพรรคสังคมแรงงานประชาธิปไตยรัสเซีย (Russian Social Democratic Workers’ Party)* สาขานิจนีนอฟโกรอด

 สเวียร์ดลอฟจัดทำเอกสารใต้ดินเผยแพร่ความคิดสังคมนิยมในหมู่กรรมกรโดยใช้โรงพิมพ์ของบิดาเป็นแหล่งผลิตและเป็นที่พบปะของสมาชิกพรรค ในกลาง ค.ศ. ๑๙๐๒ เขาถูกจับเป็นครั้งแรกด้วยข้อหาก่อความวุ่นวายด้วยการพยายามแจกเอกสารการเมืองในงานศพของเพื่อนนักศึกษาแม้จะถูกคุมขังเป็นเวลาสั้น ๆ เพียง ๒ สัปดาห์ แต่คุกก็ทำให้เขาแข็งแกร่งขึ้นและทุ่มตัวให้กับการปฏิวัติมากขึ้นหลังพ้นโทษเขาไปพักอยู่กับพี่สาวคนโตที่เมืองซาราตอฟ (Saratov) ระยะหนึ่งและในปลาย ค.ศ. ๑๙๐๒ ก็กลับมานิจนีนอฟโกรอด ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๐๓-๑๙๐๔ สเวียร์ดลอฟ ช่วยจัดตั้งหน่วยสิ่งพิมพ์ใต้ดินขึ้นตามเมืองต่าง ๆ ที่องค์การพรรคสามารถขยายงานปฏิวัติไปถึง และเป็นนักปลุกระดมที่เหล่ากรรมกรชื่นชอบ ในปลาย ค.ศ. ๑๙๐๔ องค์การนำพรรคบอลเชวิคจึงแต่งตั้งเขาเป็นแกนนำควบคุมพื้นที่เขตอุตสาหกรรมทอผ้าเมืองคอสโตรมา (Kostroma) หน่วยโอฮารา (Okhara) หรือตำรวจลับพยายามติดตามการเคลื่อนไหวของเขาและขึ้นบัญชีว่าเขา “เป็นนักปฏิวัติมืออาชีพ” ที่ต้องลูกจับทั้งให้สมญาเขาว่า “เจ้าตัวเล็ก” (little one) เนื่องจากเขามีรูปร่างบอบบางและตัวเล็กในต้น ค.ศ. ๑๙๐๔ สเวียร์ดลอฟย้ายไปปฏิบัติงานที่เมืองคาซาน (Kazan) และเมืองเยคาเตรินบุร์ก (Ekaterinburg) ตามลำดับโดยรับผิดชอบควบคุมงานพรรคแถบภูมิภาคยูรัล (Ural) ในเวลาอันสั้นเขาทำให้ชื่อจัดตั้ง “สหายอังเดร” (Comrade Andrey) เป็นที่รู้จักและยอมรับในหมู่กรรมกรและนักศึกษาทั้งเป็นนักเคลื่อนไหวที่เหล่ากรรมกรรักและศรัทธามากกว่าแกนนำคนอื่น ๆ

 เมื่อรัฐบาลประกาศจัดตั้งสภาดูมา (Duma)* ขึ้นภายหลังการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๙๐๕ (Nineteen-Five Revolution)* ในกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก (St. Petersburg) สิ้นสุดลง และเริ่มดำเนินการปราบปรามการเคลื่อนไหวของกรรมกร สภาโซเวียตแห่งมอสโกมีมติให้ชุมนุมเคลื่อนไหวต่อต้าน สเวียร์ดลอฟจึงเดินทางกลับมอสโกและร่วมเคลื่อนไหวปลุกระดมกรรมกรให้จับอาวุธขึ้นสู้แต่ก็เป็นช่วงเวลาสั้น ๆ เพราะเขาได้รับมอบหมายให้กลับไปเคลื่อนไหวในพื้นที่แถบยูรัลเพื่อให้การลุกฮือขึ้นสู้เป็นเอกภาพทั่วประเทศ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลสามารถควบคุมสถานการณ์ได้และการลุกฮือขึ้นสู้ที่มอสโกและตามเมืองต่าง ๆ ประสบความล้มเหลวสเวียร์ดลอฟรอดพ้นจากการถูกจับและหนีไปกบดานที่เมืองเปียร์ม (Perm) ทั้งเริ่มสร้างข่ายงานปฏิวัติขึ้นใหม่ แกนนำระดับสูงหลายคนของพรรคบอลเชวิคมีความเห็นตรงกันว่า สเวียร์ดลอฟเป็นนักจัดตั้งที่ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยและมีความจำเป็นเลิศเพราะเขาสามารถจำชื่อและบุคลิกภาพของสหายทุกคนที่ทำงานด้วยได้อย่างดี เลนินก็รู้จักและได้ยินชื่อของเขาจากการบอกเล่าต่อ ๆ กันมาดังกล่าว อะนาโตลี ลูนาชาร์สกี (Anatoly Lunacharsky)* บรรณาธิการหนังสือพิมพ์พรรคบอลเชวิค กล่าวว่า สเวียร์ดลอฟเป็นเสมือนสารานุกรมประวัตินักปฏิวัติและเป็นคนที่มีสัญชาตญาณพิเศษในการติดต่อกับผู้คน

 ในกลาง ค.ศ. ๑๙๐๖ สเวียร์ดลอฟและออลกา (Olga) สหายคู่ชีวิตถูกจับและถูกคุมขังเป็นเวลา ๒ ปี ซึ่งเขาได้ใช้เวลาระหว่างนั้นศึกษาหาความรู้จากหนังสือเกือบทุกเล่มในห้องสมุดคุก เมื่อพ้นโทษใน ค.ศ. ๑๙๐๙ เขาได้รับมอบหมายจากเลนินให้ไปสร้างองค์กรและข่ายงานปฏิวัติขึ้นใหม่ที่มอสโก ในช่วงที่งานปฏิวัติกำลังฟื้นตัว เขาก็ถูกจับอีกครั้งในปลาย ค.ศ. ๑๙๐๙ และถูกเนรเทศไปยังภูมิภาคนารืยม์ (Narym) ในไซบีเรีย ๓ ปี แต่ในฤดูร้อน ค.ศ. ๑๙๑๐ เขาถูกจับอีกครั้งและศาลพิพากษาให้เนรเทศเขาไปยังภูมิภาคนารืยม์เป็นเวลา ๔ ปี เขาพยายามหลบหนีอีก ๒ ครั้งแต่ประสบความล้มเหลว ในต้น ค.ศ. ๑๙๑๒ เขามีโอกาสพบและรู้จักกับโจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin)* ซึ่งถูกเนรเทศมาที่นารืยม์และเป็นเพื่อนร่วมห้องขังด้วยกัน ในต้น ค.ศ. ๑๙๑๒ กลุ่มบอลเชวิคจัดการประชุมใหญ่ผู้แทนพรรคครั้งที่ ๖ ขึ้นที่กรุงปราก (Prague) เพื่อหาทางยุติปัญหาความขัดแย้งภายในพรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซียระหว่างกลุ่มบอลเชวิคกับกลุ่มเมนเชวิค (Mensheviks)* ผลการประชุมที่สำคัญประการหนึ่งคือ กลุ่มเมนเชวิคถูกขับออกจากพรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซียและบอลเชวิคประกาศอย่างเป็นทางการเป็นพรรคของผู้แทนรัสเซียทั้งหมด ในชื่อพรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซีย (บอลเชวิค) ที่ประชุมยังมีมติแต่งตั้งให้สเวียร์ดลอฟซึ่งถูกเนรเทศอยู่ที่ไซบีเรียเป็นกรรมาธิการคนหนึ่งในคณะกรรมาธิการกลางพรรคบอลเชวิคที่จัดตั้งขึ้น

 ในฤดูใบไม้ร่วง ค.ศ. ๑๙๑๒ สเวียร์ดลอฟและสตาลินสามารถหลบหนีจากไซบีเรียและกลับมายังเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กได้ คนทั้งสองร่วมจัดทำหนังสือพิมพ์ Pravda ของพรรคบอลเชวิคและประสานงานการเคลื่อนไหวทางการเมืองทั้งงานลับและงานเปิดเผยกับสมาชิกบอลเชวิคในสภาดูมาในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๑๒ สเวียร์ดลอฟได้เป็นบรรณาธิการบริหารหนังสือพิมพ์ Pravda แทนสตาลิน เขาวางนโยบายของหนังสือพิมพ์ให้สอดคล้องกับอุดมการณ์และนโยบายของเลนินและวิพากษ์โจมตีสมาชิกสภาปีกซ้ายที่สนับสนุนรัฐบาลและได้ชื่อว่าเป็นพวกยุบพรรค (liquidators) อย่างไรก็ตาม ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๑๓ ทั้งสเวียร์ดลอฟและสตาลินถูกสายลับตำรวจที่แฝงเร้นในองค์การพรรคทรยศ คนทั้งสองถูกจับและถูกเนรเทศไปยังภูมิภาคตูรุกฮันสค์ (Turukhansk) ในไซบีเรีย และเป็นเพื่อนร่วมห้องขังกันอีกครั้งหนึ่ง แต่เป็นช่วงเวลาสั้น ๆ เพราะในเวลาต่อมาสเวียร์ดลอฟถูกย้ายไปจำคุกอยู่ที่หมู่บ้านโมนาสตืยร์สโกเอ (Monastyrskoe)

 ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๑๓-๑๙๑๗ สเวียร์ดลอฟใช้เวลาส่วนใหญ่ศึกษาคันคว้าลัทธิมากซ์ (Marxism)* และเข้าร่วมงานการเมืองท้องถิ่นโดยติดต่อผ่านสหายนอกคุก ทั้งส่งบทความตีพิมพ์เผยแพร่อย่างสมํ่าเสมอในหน้าหนังสือพิมพ์บทความชิ้นสำคัญของเขาคือ “Studies on the History of the International Worker’s Movement” และ “The Split in German Social Democracy” เขายังคงได้รับข่าวสารจากศูนย์กลางพรรคที่มอสโกและเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กอย่างสมํ่าเสมอ ซึ่งทำให้เขาสามารถติดตามข่าวสถานการณ์ทางการเมืองและสังคมที่เกิดขึ้นได้เมื่อสงครามโลกเกิดขึ้น สเวียร์ดลอฟสนับสนุนแนวความคิดของเลนินในการจะใช้เงื่อนไขของสงครามให้เป็นประโยชน์ต่อการปฏิวัติด้วยการเปลี่ยนสถานการณ์สงครามให้กลายเป็นสงครามกลางเมืองและหาโอกาสก่อการปฏิวัติเพื่อยึดอำนาจทางการเมือง

 ข่าวการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ (February Revolution)* ค.ศ. ๑๙๑๗ ที่เกิดขึ้นในกรุงเปโตรกราด (Petrograd) ซึ่งนำไปสู่การล่มสลายของราชวงศ์โรมานอฟ (Romanov)* ทำให้นักปฏิวัติรัสเซียที่ลี้ภัยนอกประเทศต่างปีติยินดีและพยายามหาทางกลับเข้าประเทศเพื่อเข้าร่วมการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เกิดขึ้น สเวียร์ดลอฟเป็นคนหนึ่งในจำนวนนักปฏิวัติรุ่นแรก ๆ ที่กลับเข้าประเทศได้ เขาหลบหนีจากไซบีเรียและกลับถึงกรุงเปโตรกราดในปลายเดือนมีนาคมแม้เขาจะดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิกกรรมาธิการของพรรคบอลเชวิคตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๑๒ แต่ในแวดวงองค์การพรรคก็ยังไม่มีใครรู้จักเขามากนัก นอกจากเคยได้ยินชื่อเสียงในฐานะนักเคลื่อนไหวที่เก่งกาจ สเวียร์ดลอฟจึงเข้าร่วมเคลื่อนไหวในฐานะสมาชิกพรรคคนหนึ่ง และต่อมาได้รับมอบหมายให้ไปเคลื่อนไหวที่ยูรัล เขามีบทบาทสำคัญในการผลักดันการประชุมผู้แทนทั้งมวลของพรรคบอลเชวิคภูมิภาคยูรัล (All-Ural Conference of Bolsheviks) ขึ้นในเดือนเมษายนและในการประชุมครั้งนี้ที่ประชุมไม่ได้มีมติสนับสนุนแผนปฏิบัติการของเลนินที่เรียกกันทั่วไปว่า “นิพนธ์เดือนเมษายน” (April Theses) ซึ่งว่าด้วยการปฏิวัติประชาธิปไตยชนชั้นนายทุนไปสู่การปฏิวัติสังคมนิยม หลังการประชุมครั้งนี้สเวียร์ดลอฟได้รับเลือกให้เป็นผู้แทนคนหนึ่งของภูมิภาคยูรัลเข้าร่วมประชุมใหญ่พรรคบอลเชวิคครั้งที่ ๗ ที่กรุงเปโตรกราด

 ในการประชุมใหญ่พรรคบอลเชวิคครั้งที่ ๗ สเวียร์ดลอฟสร้างชื่อเสียงให้เป็นที่ยอมรับในฐานะเป็นนักบริหารที่มีฝีมือ เขาจัดระบบระเบียบการประชุมและควบคุมการประชุมให้เป็นไปในทิศทางที่เลบินได้กำหนดไว้จนที่ประชุมใหญ่ต้องยอมรับแนวทางปฏิวัติตามนิพนธ์เดือนเมษายนซึ่งทำให้องค์การท้องถิ่นต่าง ๆ ของพรรคในเวลาต่อมาก็นำแนวนโยบายของนิพนธ์เดือนเมษายนไปปฏิบัติด้วยสเวียร์ดลอฟได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกคณะกรรมาธิการกลางพรรคบอลเชวิคอีกครั้ง ทั้งเลนินยังแต่งตั้งเขาเป็นเลขาธิการพรรคบอลเชวิคแห่งเปโตรกราด หลังการประชุมใหญ่พรรคบอลเชวิคครั้งนี้ สเวียร์ดลอฟมีบทบาทสำคัญในการวางระบบงานระหว่างองค์การกลางพรรคกับส่วนท้องถิ่นให้เป็นเอกภาพ โดยเพิ่มอำนาจของคณะกรรมาธิการกลางพรรคเหนือคณะกรรมาธิการกลางพรรคท้องถิ่น และชี้นำนโยบายและการเผยแพร่ข่าวสารขององค์การพรรคให้มีประสิทธิภาพทั่วทั้งประเทศ นอกจากนี้ เขายังมีบทบาทสำคัญในการโน้มน้าวให้กลุ่มเมชรายอนกา (Mezhrayonka) หรือคณะกรรมาธิการระหว่างเขต (Interdistrict Committee) ซึ่งมีตรอตสกีเป็นผู้นำและเป็นฝ่ายสายกลางในพรรคแรงงานสังคมประชาธิบไตยรัสเซียเข้าร่วมกับพรรคบอลเชวิคได้สำเร็จ

 ในต้นเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๑๗ มีการชุมนุมเคลื่อนไหวต่อต้านสงครามซึ่งนำไปสู่การปะทะกันอย่างนองเลือดระหว่างกองทหารกับผู้ชุมนุม เป็นเหตุการณ์ที่เรียกกันว่าการลุกฮือเดือนกรกฎาคม (July Uprising) รัฐบาลเฉพาะกาลจึงเห็นเป็นโอกาสกวาดล้างฝ่ายบอลเชวิคและจับกุมแกนนำคนสำคัญของบอลเชวิคหลายคน ซึ่งรวมทั้งเลฟ คาเมเนฟ (Lev Kamenev)* อะเล็กซานดรา คอลลอนไต (Aleksandra Kollantay)* และตรอตสกี ส่วนเลนินและกรีกอรี ซีโนเวียฟ (Grigori Zinoviev)* สามารถหลบหนีไปฟินแลนด์ได้ ในช่วงเวลาที่พรรคบอลเชวิคเป็นฝ่ายเพลี่ยงพลํ้าทางการเมืองนั้น สเวียร์ดลอฟซึ่งทำหน้าที่รักษาการผู้นำพรรคแทนเลนินพยายามฟื้นฟูสายงานพรรคในส่วนกลางให้เข้มแข็งและประสานงานการติดต่อกับองค์การพรรคส่วนท้องถิ่น ความสามารถในการบริหารจัดการของเขาทำให้มีการจัดประชุมใหญ่ผู้แทนพรรคครั้งที่ ๖ อย่างไม่เต็มรูปขึ้นอย่างลับ ๆ ที่กรุงเปโตรกราดได้สำเร็จในปลายเดือนกรกฎาคมในการประชุมใหญ่ครั้งนี้ สเวียร์ดลอฟรายงานปัญหาสถานการณ์ทางการเมืองที่ดำรงอยู่หลังการลุกฮือเดือนกรกฎาคม และแนวทางการเคลื่อนไหวปฏิวัติต่อไป เขาสรุปว่าบอลเชวิคได้เติบโตเข้มแข็งจากจำนวน ๗๘ องค์การพรรคทั่วประเทศโดยมีสมาชิก ๘๐,๐๐๐ คน ในเดือนเมษายนเพิ่มเป็น ๑๖๒ องค์การและมีสมาชิกกว่า ๒๔๐,๐๐๐ คน เขายังทำให้ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้องค์การสันนิบาตเยาวชน (Youth League) ที่จัดตั้งขึ้นเป็นกองกำลังสำรองของพรรคบอลเชวิค

 หลังการประชุมใหญ่พรรคครั้งที่ ๖ สเวียร์ดลอฟ มีบทบาทและอิทธิพลสำคัญมากขึ้นในพรรค ต่อมาเมื่อรัฐบาลเฉพาะกาลเป็นฝ่ายเพลี่ยงพลํ้าทางการเมืองในเหตุการณ์ที่เรียกว่ากรณีเรื่องคอร์นีลอฟ (Kornilov Affair)* พรรคบอลเชวิคซึ่งเคลื่อนไหวในนามของสภาโซเวียตในการต่อต้านกบฏคอร์นีลอฟก็กลับมามีบทบาททางการเมืองอีกครั้งหนึ่ง บอลเชวิคจึงผลักดันการเปิดประชุมใหญ่สภาโซเวียตทั่วรัสเซียสมัยที่ ๒ (The Second All-Russian Congress of Soviets) ขึ้นในเดือนตุลาคม และขณะเดียวกันก็เตรียมการยึดอำนาจทางการเมือง สเวียร์ดลอฟมีบทบาทสำคัญในการประสานงานกับองค์การต่าง ๆ ของพรรคทุกระดับและเป็นแกนนำคนหนึ่งของหน่วยองค์การ (Organization Bureau) ซึ่งมีสมาชิก ๗ คนรวมทั้งเลนิน ตรอตสกี และสตาลินเพื่อให้คำชี้แนะแก่องค์การพรรคเรื่องการยึดอำนาจ เขายังรับหน้าที่อื่น ๆ อีกหลายตำแหน่ง เช่น ผู้ประสานงานระหว่างคณะกรรมาธิการกลางพรรคกับคณะกรรมาธิการปฏิวัติทหาร (Military Revolutionary Committee) หัวหน้าฝ่ายสิ่งพิมพ์พรรค หัวหน้าการเคลื่อนไหวฝ่ายพรรคภายในสหภาพแรงงาน และอื่น ๆ หน้าที่และบทบาทสำคัญที่หลากหลายดังกล่าวทำให้สเวียร์ดลอฟได้รับสมญาว่า “เลขาธิการของการลุกฮือเดือนตุลาคม” (General Secretary of the October Insurrection)

 ในการเตรียมการยึดอำนาจทางการเมือง สเวียร์ดลอฟสนับสนุนเลนินในการจะยึดอำนาจรัฐก่อนวันเปิดประชุมใหญ่สภาโซเวียตทั่วรัสเซียสมัยที่ ๒ ซึ่งกำหนดขึ้นในวันที่ ๒๐ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๑๗ เขามีบทบาทสำคัญในการจัดประชุมลับครั้งสำคัญของคณะกรรมาธิการกลางพรรคบอลเชวิคเมื่อวันที่ ๑๐ ตุลาคม เพื่อตัดสินเรื่องการลุกฮือยึดอำนาจ และโน้มน้าวที่ประชุมส่วนใหญ่ให้เห็นด้วยกับการยึดอำนาจในนามของสภาโซเวียตและการใช้คำขวัญ “คืนอำนาจรัฐทั้งหมดแก่สภาโซเวียต” นอกจากนี้ สเวียร์ดลอฟยังอยู่เบื้องหลังการเตรียมการจัดประชุมใหญ่สภาโซเวียตภูมิภาคตอนเหนือ (Northern Regional Congress of Soviets) ระหว่างวันที่ ๑๑-๑๓ ตุลาคม เพื่อพิจารณาแนวทางการโค่นอำนาจรัฐบาลเฉพาะกาลของเคเรนสกีเขายังเป็นกรรมาธิการคนหนึ่งในจำนวน ๕ คนของศูนย์ปฏิวัติทหาร (Military Revolutionary Center) ของคณะกรรมาธิการกลางพรรคที่ประสานงานกับตรอตสกีและคณะกรรมาธิการปฏิวัติฝ่ายทหารแห่งสภาโซเวียตเปโตรกราด (Military Revolutionary Committee of the Petrograd Soviet) เพื่อป้องกันกรุงเปโตรกราดและการคุกคามจากเยอรมนี รวมทั้งการเตรียมยึดอำนาจด้วยกำลังอาวุธ

 หลังชัยชนะของการยึดอำนาจในการปฏิวัติเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๑๗ สเวียร์ดลอฟดำรงตำแหน่งสำคัญทั้งในพรรคบอลเชวิคและในคณะรัฐบาลโซเวียตหรือคณะมนตรีคอมมิสซาร์ประชาชน (Soviet Council of People’s Commissars) เลนินสนับสนุนให้เขาได้รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่สภาโซเวียตเป็นประธานคณะกรรมการบริหารกลางรัสเซียทั้งมวลของสภาโซเวียต คณะกรรมการบริหารกลางรัสเซียทั้งมวลชุดนี้ประกอบด้วยผู้แทนทั้งหมด ๑๑๖ คน เป็นผู้แทนบอลเชวิค ๖๗ คน พรรคสังคมนิยมปฏิวัติ ๒๙ คน และที่เหลือเป็นผู้แทนของกลุ่มการเมืองอื่น ๆ มีหน้าที่บริหารในช่วงที่ที่ประชุมใหญ่สภาโซเวียตปิดสมัยการประชุม สเวียร์ดลอฟปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเข้มแข็งและพยายามประสานความแตกต่างของกลุ่มการเมืองต่าง ๆ ให้เป็นเอกภาพ รวมทั้งโน้มน้าวให้กลุ่มปีกซ้ายของพรรคสังคมนิยมปฏิวัติเข้าร่วมในคณะรัฐบาลโซเวียตด้วย ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๑๗ เขายังทำให้คณะกรรมการฝ่ายบริหารซึ่งส่วนใหญ่เป็นบอลเชวิคมีบทบาทและอำนาจมากขึ้นภายในคณะกรรมการบริหารกลางรัสเซียทั้งมวล พรรคบอลเชวิคจึงมักอ้างอำนาจและคำสั่งของคณะกรรมการฝ่ายบริหารมาดำเนินการ ในนามของคณะกรรมาธิการกลางพรรคบอลเชวิคและรัฐบาลโซเวียต ในกลาง ค.ศ. ๑๙๑๘ คณะกรรมาธิการกลางพรรคบอลเชวิคก็สามารถรวบอำนาจได้อย่างเด็ดขาด และกลุ่มการเมืองที่ไม่เห็นด้วยกับแนวนโยบายของบอลเชวิคก็ถูกลดบทบาทและหมดอำนาจลงทั้งถูกปลดออกจากคณะกรรมการบริหารกลางรัสเซียทั้งมวล

 หลังจากพรรคบอลเชวิคสามารถคุมอำนาจได้ทั้งหมดสเวียร์ดลอฟก็หันมาปรับโครงสร้างการบริหารของพรรคตามหลักการของระบอบประชาธิปไตยรวมศูนย์ (Democratic Centralism) โดยองค์การพรรคทุกระดับต้องมาจากการเลือกตั้ง และขึ้นต่อองค์กรนำที่เหนือกว่า และต้องปฏิบัติตามวินัยพรรคอย่างเข้มงวดโดยเสียงข้างน้อยต้องขึ้นต่อเสียงข้างมาก มติขององค์กรชั้นบนที่กำหนดลงมานั้น องค์กรชั้นล่างและสมาชิกพรรคทั้งหมดต้องปฏิบัติตามและอื่น ๆ เขายังริเริ่มจัดทำระบบบัญชีประวัติสมาชิกพรรค และเสริมอำนาจให้แก่คณะกรรมาธิการพรรคท้องถิ่นให้เข้มแข็งในการบริหารควบคุมจังหวัดต่าง ๆ สเวียร์ดลอฟยังเสนอให้มีการสลับเวียนตำแหน่งบริหารระดับสูงและตำแหน่งหน้าที่ทั่วไปในระดับล่าง เพื่อป้องกันการผูกขาดอำนาจและปัญหาการทำงานแบบข้าราชการ ระบบงานของพรรคที่มีประสิทธิภาพทำให้สเวียร์ดลอฟได้รับการยอมรับมากขึ้นจากแกนนำพรรคในส่วนภูมิภาคและต่างจังหวัดจนเรียกเขาว่า “ประธาน” ของคณะกรรมาธิการกลางพรรค ในกลาง ค.ศ. ๑๙๑๘ สเวียร์ดลอฟได้รับแต่งตั้งจากคณะกรรมการบริหารกลางรัสเซียทั้งมวลเป็นประธานร่างรัฐธรรมนูญซึ่งเน้นการรวมศูนย์อำนาจที่เข้มแข็งไว้ที่ส่วนกลางตามหลักประชาธิปไตยรวมศูนย์ การโอนอำนาจท้องถิ่นทั้งหมดในเขตที่พลเมืองสัญชาติอื่นอาศัยอยู่ให้สภาโซเวียต การเน้นสิทธิเสรีภาพแก่พลเมืองผู้ใช้แรงงาน และการจัดรูปแบบการปกครองเป็นสหพันธ์สาธารณรัฐ เขาสามารถผลักดันการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญได้สำเร็จภายในเวลาอันสั้น

 ในช่วงเวลาที่มีการประชุมพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญอยู่นั้น เลนินก็สั่งการให้หน่วยเชกา (CHEKA)* ประจำเมืองเยคาเตรินบุร์ก ปลงพระชนม์ซาร์นิโคลัสที่ ๒ (Nicholas II ค.ศ. ๑๘๙๔-๑๙๑๘)* พร้อมพระราชวงศ์ทุกพระองค์ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของระบอบเก่า และเพื่อป้องกันกลุ่มกษัตริย์นิยมไม่ให้เคลื่อนไหวฟื้นคืนอำนาจแก่สถาบันกษัตริย์อีกต่อไปสเวียร์ดลอฟสนับสนุนความคิดของเลนิน ในการประชุมใหญ่คณะกรรมการบริหารกลางบอลเชวิคเมื่อวันที่ ๑๙ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๑๘ เขาแจ้งข่าวการปลงพระชนม์ซารํให้ที่ประชุมทราบและอ้างว่าซารีนาและสมาชิกราชวงศ์องค์อื่น ๆ ยังคงมีพระชนม์ชีพอยู่ แต่ถูกส่งไปควบคุมที่อื่นเพื่อความปลอดภัยการแถลงของสเวียร์ดลอฟทำให้ข่าวปลงพระชนม์ซาร์นิโคลัสที่ ๒ โดยสภาโซเวียตท้องถิ่นเป็นที่รับรู้อย่างเป็นทางการทั่วประเทศ อีก ๑ สัปดาห์ต่อมา สื่อสิ่งพิมพ์ประเทศตะวันตกก็พิมพ์เผยแพร่ข่าวดังกล่าว

 ในต้น ค.ศ. ๑๙๑๙ สเวียร์ดลอฟได้รับแต่งตั้งเป็นผู้มีอำนาจเต็มของรัฐบาลในการเจรจากับรัฐบาลลิทัวเนียและรัฐบาลเบโลรัสเซีย (Belorussia) เพื่อให้เข้าร่วมกับสหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตรัสเซีย (Russian Soviet Federative Socialist Republic-RSFSR) ซึ่งก็ประสบความสำเร็จและนำไปสู่การจัดตั้งสาธารณรัฐลิทัวเนีย-เบโลรัสเซีย (Lithuanian-Belorussian Republic) เขายังร่วมคัดเลือกบุคลากรของรัฐบาลสาธารณรัฐใหม่ที่จัดตั้งขึ้นด้วยต่อมาในเดือนมีนาคม เขาเดินทางไปยูเครนเพื่อไกล่เกลี่ยความขัดแย้งระหว่างสมาชิกพรรคบอลเชวิคปีกขวากับปีกซ้ายเกี่ยวกับปัญหาแนวทางการบริหารปกครองซึ่งก็ประสบความสำเร็จ อย่างไรก็ตาม การทำงานตรากตรำและไม่ได้พักผ่อนเพียงพอทำให้สเวียร์ดลอฟล้มป่วยขณะเยือนเมืองโอริออล (Oryol) ซึ่งกำลังมีไข้ระบาด เมื่อกลับมากรุงมอสโกเขาป่วยหนักด้วยไข้หวัดใหญ่และถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ ๑๖ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๑๙ ขณะอายุ ๓๔ ปี

 รัฐบาลโซเวียตให้บรรจุศพสเวียร์ดลอฟไว้ที่กำแพงเครมลิน จัตุรัสแดง ใน ค.ศ. ๑๙๒๔ รัฐบาลโซเวียตให้เปลี่ยนชื่อจังหวัดเยคาเตรินบุร์กซึ่งเป็นศูนย์กลางเหมืองถ่านหินในแหล่งถ่านหินโดเนตส์ (Donets Coal Basin) ยูเครนเป็นชื่อสเวียร์ดลอฟเพื่อเป็นเกียรติและอนุสรณ์แก่เขา เพราะเขาเริ่มต้นชีวิตสมาชิกพรรคในระยะแรกที่เมืองนี้ ทั้งตั้งชื่อเรือรบพิฆาตโนวิค (Novik) ซึ่งเป็นเรือบังคับบัญชากองเรือพิฆาตเป็นชื่อยาคอฟ สเวียร์ดลอฟด้วย มรณกรรมของสเวียร์ดลอฟทำให้เกิดช่องว่างในระบบการบริหารจัดการในองค์การพรรคในเวลาต่อมาเลนินจึงแต่งตั้งโจเซฟ สตาลินเป็นเลขาธิการพรรคใน ค.ศ. ๑๙๒๒ เพื่อปรับแก้ไขระบบงานธุรการและการติดต่อประสานงานกับองค์การพรรคระดับต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพขึ้น ต่อมา หลังสหภาพโซเวียตล่มสลายใน ค.ศ. ๑๙๙๑ ประธานาธิบดีบอริส เยลต์ซิน (Boris Yeltsin)* แห่งสหพันธรัฐรัสเซีย (Russian Federation) ได้เปลี่ยนชื่อจังหวัดสเวียร์ดลอฟกลับเป็นชื่อเยคาเตรินบุร์กดังเดิม.



คำตั้ง
Sverdlov, Yakov Mikhaylovich
คำเทียบ
นายยาคอฟ มีไฮโลวิช สเวียร์ดลอฟ
คำสำคัญ
- กรณีเรื่องคอร์นีลอฟ
- กลุ่มเมชรายอนกา
- กอร์กี, มักซิม
- การปฏิวัติ ค.ศ. ๑๙๐๕
- การปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์
- การปฏิวัติเดือนตุลาคม
- การลุกฮือเดือนกรกฎาคม
- คณะมนตรีคอมมิสซาร์ประชาชน
- คอลลอนไต, อะเล็กซานดรา
- คาเมเนฟ, เลฟ
- เคเรนสกี, อะเล็กซานเดอร์
- เชกา
- ซีโนเวียฟ, กรีกอรี
- ตรอตสกี, เลออน
- นิพนธ์เดือนเมษายน
- บอลเชวิค
- พรรคบอลเชวิค
- พรรคแรงงาน
- พรรคสังคมนิยม
- พรรคสังคมนิยมปฏิวัติ
- พรรคสังคมแรงงานประชาธิปไตยรัสเซีย
- เมนเชวิค
- ยูเครน
- เยลต์ซิน, บอริส
- ระบอบเก่า
- ระบอบประชาธิปไตยรวมศูนย์
- ลัทธิมากซ์
- ลิทัวเนีย
- ลูนาชาร์สกี, อะนาโตลี
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- สภาดูมา
- สภาร่างรัฐธรรมนูญ
- องค์การสันนิบาตเยาวชน
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1885-1919
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
พ.ศ. ๒๔๒๘-๒๔๖๒
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
สัญชัย สุวังบุตร
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-